สายสีน้ำเงิน “หัวลำโพง-บางแค”เปิดแล้ว
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ สถานีท่าพระ กรุงเทพฯ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหารหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธี
ครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหาจราจร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไปฝั่งธนบุรี ระยะทางทั้งสิ้น 27 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค เชื่อมจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีหลักสอง สิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร รวม 11 สถานี และช่วงเตาปูน – ท่าพระ เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมที่สถานีเตาปูน – สถานีท่าพระ สิ้นสุดที่บริเวณแยกท่าพระ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ คาดว่าจะดำเนินการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการได้ภายในปี 2562 และมีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนมีนาคม 2563 สำหรับอัตราค่าโดยสาร รฟม. และ BEM ได้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน โดยคงอัตราค่าโดยสารเดิมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เริ่มต้นที่ 16 บาท และสูงสุดไม่เกิน 42 บาท สำหรับกรณีผู้โดยสารเดินทางข้ามระบบจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่ – สถานีหลักสอง) จะมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาท และสูงสุดไม่เกิน 70 บาท พร้อมทั้งยังคงส่วนลดพิเศษสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และนักเรียน นักศึกษา
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรีที่ต่อเนื่องตั้งแต่สถานีเตาปูนถึงสถานีหลักสอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ยังมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ทั้งทางราง ทางบก และทางน้ำในเขตเมือง ช่วยเสริมการเดินทางและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล