“ธุรกิจการบิน” ซบยาว ทอท.พยุงคู่ค้า-เร่งรายได้ “น็อนแอโร่”

“ธุรกิจการบิน” ซบยาว ทอท.พยุงคู่ค้า-เร่งรายได้ “น็อนแอโร่”

พยุงการบิน

จากที่คาดการณ์กันว่า ภาคการท่องเที่ยวโลกรวมถึงประเทศไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้เป็นต้นไป และจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากประชากรโลกมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่สร้างความเชื่อมั่นให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง

แต่กลับพบว่าแม้ทั่วโลกจะมีสัดส่วนของประชากรที่ฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดก็ยังคงมีต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังคงชะลอตัว แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการการเข้า-ออกประเทศแล้วก็ตาม

แน่นอนว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว และสายการบิน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิดที่ลากยาวและหนักกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

รับหนักกว่าคาดการณ์

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) บอกว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ทอท.คาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดน่าจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจนภายในปี 2564/2565 หรือสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางผ่าน 6 สนามหลักในความดูแล คือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เชียงใหม่ และเชียงราย จำนวนประมาณ 113.1 ล้านคน และเพิ่มเป็น 147.2 ล้านคนในปี 2566 (ใกล้เคียงกับปี 2562)

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในหลายประเทศที่ยังคงรุนแรง จึงเชื่อมั่นว่าผลกระทบดังกล่าวจะยังคงหนักต่อเนื่องในปี 2565 นี้ โดยคาดว่าในปี 2565 นี้สนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.จะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 62.13 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 26.28 ล้านคน ผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 35.85 ล้านคน และเพิ่มเป็นประมาณ 116.13 ล้านคนในปี 2566 และ 143.05 ล้านคนในปี 2567

กล่าวคือ ด้วยสถานการณ์ในวันนี้ทำให้ต้องขยับเวลาไปอีก 1 ปี กว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 141.87 ล้านคน

ขยายมาตรการพยุงธุรกิจ

จากแนวโน้มและคาดการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ทอท.มีมติขยายมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 นี้ เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและสนามบินให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ดังนี้

1.ให้เรียกเก็บเฉพาะผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ โดยยกเว้นการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee)

2.ยกเว้นและปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่

3.ยกเว้นและปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการขึ้น-ลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน

4.สายการบินและผู้ประกอบการทุกรายต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 12.5% ของอัตราค่าเช่าพื้นที่ก่อนได้รับมาตรการยกเว้น และการปรับลดค่าเช่าพื้นที่แก่ ทอท.ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

และ 5.ขยายระยะเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่สายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์เพิ่ม 1 ปี นับจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการไม่ต้องวางหลักประกันสัญญาเพิ่มเติม

คู่ค้าเจ๊ง-แห่ยกเลิกสัญญา

“นิตินัย” อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากปัจจัยเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่ยังไม่กลับมาในปี 2565 แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ทอท.จำเป็นต้องขยายมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในสนามบิน คือ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการเชิงพาณิยช์ในสนามบินทั้ง 6 แห่งไม่สามารถกลับมาประกอบการธุรกิจได้ และได้ทยอยยกเลิกสัญญาอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์หยุดประกอบกิจการและยกเลิกสัญญาไปประมาณ 900 สัญญา จากจำนวนสัญญาทั้งหมด 2,783 สัญญา หรือคิดเป็น 32.34% หรือประมาณ 1 ใน 3

โดยในกลุ่มผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ยกเลิกไปแล้วกว่า 800 สัญญา คิดเป็น 36.62% กลุ่มสายการบินยกเลิกไปกว่า 70 สัญญา คิดเป็น 14.26% และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ 453 คน (ณ 7 พฤศจิกายน 2564) พบว่า ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนและข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเปิดประกอบกิจการอีกครั้งหรือไม่

ผลจากการสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้ประกอบการกลุ่มสายการบิน 79% และกลุ่มผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ 66% บอกว่ามาตรการที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม

ชี้คู่ค้ารอด-ทอท.รอด

“นิตินัย” ยังบอกด้วยว่า จากมาตรการพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะทำให้สายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.อยู่ได้ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ ทอท.อยู่ได้ด้วยเช่นกัน

โดยคาดว่า ทอท.มีรายได้ในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีที่ ทอท.ไม่ดำเนินการขยายมาตรการใด ๆ ในอัตราร้อยละ 17.76 คิดเป็นจำนวน 3,037 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 203.72 จากปีงบประมาณ 2564 ในปีงบประมาณ 2566 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,171 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเติม โดยปัจจุบันพบว่าในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ทอท.มีพื้นที่รวมทั้ง 6 สนามบิน จำนวน 4.3 แสนตารางเมตร มีผู้เช่าและยังประกอบกิจการ 46.76% หยุดประกอบกิจการชั่วคราว 26.84% และพื้นที่ว่าง 26.41% หรือประมาณ 1.13 แสนตารางเมตร

“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหม่ขอเข้ามาประกอบกิจการจำนวนมาก เช่น ปี 2563 มีผู้ขอเข้ามาประกอบการ 113 ราย ไม่ได้รับอนุมัติ 74 ราย อนุมัติ 39 ราย หรือประมาณ 34% ปี 2564 มีผู้ขอเข้าประกอบการ 94 ราย ไม่ได้รับอนุมัติ 76 ราย อนุมัติ 14 ราย หรือประมาณ 16% สำหรับปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการที่จะขอเข้าประกอบการ 152 ราย และอนุมัติได้ประมาณ 52 ราย”

เร่งสร้างรายได้น็อนแอโร่

นอกจากนี้ ทอท.ยังมีแผนมุ่งหารายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (non-Aeronautical) ให้เพิ่มขึ้นทั้งการเปิดศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub) มีกำหนดเปิดให้บริการเมษายน 2565 นี้ โครงการ Airport City พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสนามบิน ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนา ฯลฯ

รวมถึงการปรับโฉมแอปพลิเคชั่น AOT Airports Application ใหม่ ซึ่งเดิมจะเน้นให้บริการและอำนวยความสะดวกสำหรับนักเดินทางที่เข้ามาใช้บริการสนามบินเป็นหลักให้เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับรองรับการสร้างรายได้ในด้าน e-Commerce ภายใต้ชื่อ Sawasdee พร้อมทั้งเพิ่มบริการใหม่เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการในสนามบินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) เพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้บริการการจองแท็กซี่ ฯลฯ รวมถึงซื้อขายสินค้าต่าง ๆ

โดยระบุว่าที่ผ่านมาธุรกิจน็อนแอโร่ของ ทอท.ส่วนใหญ่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับธุรกิจด้านการบิน เพราะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกสนามบิน แต่ในอนาคตข้างหน้าธุรกิจน็อนแอโร่จะเป็นการสร้างรายได้จากนอกสนามบินด้วย

พร้อมย้ำว่า ธุรกิจการบินน่าจะกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ (ปี 2562) ได้ประมาณปี 2566-2567 เป็นต้นไป และการกลับมาครั้งใหม่หลังโควิดนี้ โครงสร้างธุรกิจของ ทอท.ก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยมีโจทย์หลักคือสร้างรายได้จากธุรกิจน็อนแอโร่ให้ได้มากที่สุด
Back To Top